Prakard2


buttonclick2

 

head-8

พระหลวงพ่อพ่วง กรุวัดกก      

 

 

วัดกก ตั้งอยู่เลขที่ ๓๔ ถนนพระรามที่ ๒ หมู่ ๑๐ แขวงท่าข้าม บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร จัดเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของกรุงเทพมหานคร สันนิษฐานกันว่า วัดนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ทรงเห็นว่า วัดกกมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอันเนื่องมาจากการทำลายของพม่า จึงได้ทรงโปรดให้ช่างทำการบูรณะซ่อมแซมและปฏิสังขรณ์พระอุโบสถขึ้นมาใหม่ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้ทรงทำการบูรณะทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม โดยทำการเปลี่ยนเครื่องบนหลังคาและหน้าบันใหม่ ตลอดจนสร้างวิหารเล็กคร่อมกำแพงแก้วสองข้างพระอุโบสถ อีกทั้งทรงโปรดให้ช่างวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถด้วย 

 

หลวงพ่อพ่วง พิมพ์พ.ศ.2473 (เนื้อดินแก่ผง)  
หลวงพ่อพ่วง พิมพ์พ.ศ.2473 (เนื้อดินแก่ผง)  

 

 

รายนามลำดับเจ้าอาวาสวัดกก มีดังต่อไปนี้

๑. หลวงพ่อดิษฐ (ลาสิกขา / ไม่ทราบปี พ.ศ.)
๒. หลวงพ่อพ่วง (ธมฺมโชติก) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสถึง พ.ศ. ๒๔๘๐
๓. พระครูวิเศษมงคลกิจ (หลวงพ่อมิ่ง) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๕๑๘
๔. หลวงพ่อเลื่อม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๒๕
๕. พระครูญาณสุทธิคุณ (หลวงพ่อน้อม) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๓๕
๖. พระมหาสมบูรณ์ ปภากโร ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกก วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ - ปัจจุบัน

 

หลวงพ่อพ่วง พิมพ์พระพุทธชินราช  
หลวงพ่อพ่วง พิมพ์พระพุทธชินราช  

 

สำหรับประวัติของหลวงพ่อพ่วงนั้น ค่อนข้างจะเลือนลางมาก ทราบเพียงแค่ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ที่ตำบลแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และได้ทำการอุปสมบทที่วัดกก โดยได้รับฉายาว่า ธมฺมโชติก หรือ ธรรมโชติ อุปนิสัยส่วนตัวของท่านจะมุ่งเน้นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังพึงพอใจในการปลีกวิเวกธุดงค์วัตรอยู่เสมอๆ จนกระทั่งวันหนึ่งท่านได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อคง ซึ่ง เป็นพระคู่สวดเมื่อตอนที่ท่านอุปสมบทได้มรณภาพลง  

 

 

 

หลวงพ่อพ่วง พิมพ์พระพุทธชินราช  
หลวงพ่อพ่วง พิมพ์พระพุทธชินราช  

 

จึงเป็นเหตุให้ท่านจำต้องเลิกธุดงค์วัตรแล้วกลับมาอยู่ที่วัดกกตามเดิม และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หลวงพ่อดิษฐซึ่งเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดกกเดิม ได้ตัดสินใจลาสิกขาบทออกไป จึงทำให้วัดกกขาดเจ้าอาวาสปกครองวัดขณะนั้น ชาวบ้านและกรรมการวัดจึงได้ประชุมกัน และมีมติเห็นพ้องต้องกันว่า หลวงพ่อพ่วงท่านมีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ที่จะสืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดกกต่อจากหลวงพ่อดิษฐ เนื่องจากท่านเป็นพระที่ชาวบ้านให้ความเคารพ เลื่อมใส และศรัทธาอย่างมาก ชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาหลวงพ่อพ่วง ให้เข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดกกนับแต่นั้นเป็นต้นมา 

 

หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ฐานบัวสามชั้น  
หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ฐานบัวสามชั้น  

 

หลวงพ่อพ่วง พิมพ์โมคคัลลาสารีบุตร  
หลวงพ่อพ่วง พิมพ์โมคคัลลา-สารีบุตร  

 

ต่อมา ในราวปี พ.ศ.๒๔๗๓ (ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่หลวงพ่อพ่วงจะมรณะภาพ ๗ ปี) หลวงพ่อพ่วงท่านได้จัดสร้างพระเครื่องเนื้อดินเผาขึ้น คาดว่าน่าจะมีจำนวนประมาณ ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับจำนวนของพระธรรมขันธ์ โดยมีแบบพิมพ์ของพระเครื่องทั้งหมด ๒๔ แบบพิมพ์ ส่วนดินที่ใช้ในการสร้างพระเครื่องนั้น ท่านได้สั่งให้ลูกศิษย์ไปนำดินมาจากจังหวัดนนทบุรี โดยขนใส่เรือแล้วล่องมาที่วัดกก สำหรับกรรมวิธีการสร้างพระเครื่อง ท่านจะนำดินเหนียวที่ได้มา นวดคลุกเคล้าผสมให้เข้ากันกับผงวิเศษ ที่ท่านลบแล้วเก็บสะสมไว้หลายพรรษา จากนั้นท่านได้เกณฑ์พระ-เณรภายในวัด มาช่วยกันกดพิมพ์พระเครื่อง แล้วนำพระเครื่องไปผึ่งแดดจนแห้งได้ที่ จึงนำมาเผาไฟโดยวิธีการสุมด้วยแกลบ เมื่อพระสุกได้ที่แล้ว ท่านได้สั่งให้ลูกศิษย์และพระเณรภายในวัด ช่วยกันลำเลียงพระเครื่องเนื้อดินเผาทั้งหมด ขึ้นไปบรรจุไว้ที่บนเพดานในพระอุโบสถวัดกกนั่นเอง  

 

หลวงพ่อพ่วง พิมพ์สมเด็จเจ็ดชั้นเล็ก  
หลวงพ่อพ่วง พิมพ์สมเด็จเจ็ดชั้นเล็ก  

 

ต่อมาในสมัยที่พระมหาสมบูรณ์ ปภากโร ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดกก ได้ทำการเปิดกรุพระเครื่องของหลวงพ่อพ่วง ซึ่งบรรจุอยู่บนเพดานโบสถ์ของวัดกก ออกให้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาต่อหลวงพ่วง ได้ร่วมทำบุญเช่าบูชาเก็บไว้เพื่อความเป็นศิริมงคล โดยทางวัดกกได้จัดทำกล่องสำหรับออกให้ประชาชนได้เช่าบูชาพระเครื่องเนื้อดินเผาของหลวงพ่อพ่วง จัดแบ่งเป็น 3 ชุดใหญ่ๆ ที่ฝากล่องของแต่ละชุด จะวงเล็บหมายเลขชุดกำกับไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย ซึ่งภายในกล่องของแต่ละชุด จะบรรจุพระเครื่องเนื้อดินเผาของหลวงพ่อพ่วงไว้ทั้งหมดจำนวน 8 องค์ องค์ละ 1 พิมพ์ไม่ซ้ำกันรวมกล่องละ 8 พิมพ์ หากทำบุญเช่าบูชากับทางวัดกกทั้งหมด 3 ชุด ก็จะได้พระเครื่องเนื้อดินเผาของหลวงพ่อพ่วงครบถ้วนทุกพิมพ์เป็นจำนวน 24 พิมพ์ 24 องค์ ซึ่งทางวัดกกได้นำปัจจัยรายได้ทั้งหมด ไปใช้ซ่อมแซมและบูรณะวัดกกต่อไป

ลักษณะของพระเครื่องพลวงพ่อพ่วงกรุเพดานโบสถ์ 

หหลวงพ่อพ่วง พิมพ์ห้าเหลี่ยมเล็ก  
หหลวงพ่อพ่วง พิมพ์ห้าเหลี่ยมเล็ก  

 

เนื้อพระ : เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาซึ่งมีลักษณะที่ไม่แน่นอนในแต่ละองค์ โดยพระเครื่องบางองค์ ที่ด้านหน้าแลดูเป็นพระเนื้อดินละเอียด แต่ด้านหลังพระกลับเป็นเนื้อดินค่อนข้างหยาบ มีเศษหินแตก กรวดแร่ชิ้นเล็กๆ และขี้เถ้าแกลบปนอยู่ในเนื้อพระ โดยรวมจัดเป็นพระเนื้อแกร่ง แต่ในพระเครื่องบางองค์นั้น มีลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผาแก่ผง การยึดตัวของเนื้อดินมีน้อย เนื้อพระจึงแลดูยุ่ยไม่แกร่ง ส่วนพระเครื่องบางองค์ กลับมีลักษณะเป็นพระเนื้อดินละเอียดจัดทั้งข้างหน้าและข้างหลัง คล้ายกับพระรอดลำพูน ไม่มีกรวดแร่หรือเศษหินแตกปนอยู่ในเนื้อพระ แลดูหนึกนุ่มเนียนตา แต่เปราะและแตกหักง่าย 

 

หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ห้าเหลี่ยมใหญ่  
หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ห้าเหลี่ยมใหญ่ (เนื้อดินละเอียดหนึกนุ่ม)
 

 

สี : พระเครื่องเนื้อดินเผาแต่ละองค์ของหลวงพ่อพ่วงเท่าที่พบ มีทั้งโทนสีดำ , สีน้ำตาล , สีแดง และ สีเหลือง ไล่เฉดสีแตกต่างกันออกไป ตามอุณหภูมิความร้อนในระหว่างกระบวนการเผาไฟ โดยพระเครื่องส่วนใหญ่แทบทุกองค์ มักจะมีสีที่ไม่เสมอกันสุกบ้างดิบบ้างไม่แน่นอนอยู่ในพระเครื่ององค์เดียวกัน เช่น ด้านหน้าเป็นสีหนึ่ง ด้านหลังเป็นอีกสีหนึ่ง หรือ ส่วนบนเป็นสีหนึ่ง ส่วนล่างเป็นอีกสีหนึ่ง เป็นต้น.

 

 

หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ขุนแผนเล็ก  
หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ขุนแผนเล็ก  

 

ธรรมชาติของพระ :
๑.) พระเครื่องส่วนใหญ่มักจะบิดงอ อันเนื่องมาจากขั้นตอนการกดพิมพ์พระ ซึ่งการบิดงอของพระ จะเกิดขึ้นในขณะที่ผู้กดพิมพ์ ทำการถอดพระซึ่งเป็นดินดิบออกจากแม่พิมพ์ ภายหลังจากที่ได้กดพิมพ์พระเสร็จแล้ว

๒.) พระเครื่องส่วนใหญ่ที่ผ่านการเผาแล้ว ผิวพระมักจะไม่ค่อยสมบูรณ์ มีรอยบุ๋มเล็กๆมากบ้างน้อยบ้าง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในองค์พระ ซึ่งรอยบุ๋มนี้เกิดจากสาเหตุสองประการ คือ

 

 

หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ขุนแผนใหญ่  
หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ขุนแผนใหญ่  

 

- เกิดจากแกลบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาพระเครื่อง ไปติดฝังอยู่บนพื้นผิวของพระซึ่งเป็นดินดิบ เมื่อไฟลามมาถึงพระองค์นั้น แกลบที่ฝังติดอยู่บนผิวพระก็จะไหม้ไฟหายไป ทำให้ผิวพระเกิดเป็นรอยบุ๋ม (บางท่านเรียกว่ารอยแกลบหลุด)

- เกิดจากมวลสารและผงวิเศษซึ่งหลวงพ่อพ่วงใช้เป็นส่วนผสมกับดินดิบ โดยเฉพาะผงวิเศษซึ่งเป็นดินสอพอง ในระหว่างขั้นตอนการผสมมวลสาร ไม่ได้คละเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน กับดินดิบ ทำให้ผงวิเศษจับกลุ่มกันกระจายอยู่ทั่วองค์พระ เมื่อนำพระมาเผาไฟ ผงวิเศษเหล่านี้บางส่วนก็ไหม้ไฟหายไป และบางส่วนก็ลอยปรากฏขึ้นมาให้เห็นบนพื้นผิวของพระเครื่อง

๓.) ด้านหลังของพระเครื่องเนื้อดินเผาหลวงพ่อพ่วง เท่าที่พบมีอยู่ ๓ ลักษณะคือ
 

 

หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่  
หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่  

- พระเครื่องบางองค์ ผู้กดพิมพ์พระได้ใช้วัสดุซึ่งมีลักษณะคล้ายสันมีด (สัณนิษฐานว่าเป็นตอกซึ่งทำจากไม้ไผ่) ปาดดินที่ด้านหลังพระ ในขณะที่ได้กดพระลงแม่พิมพ์


- พระเครื่องบางองค์ ผู้กดพิมพ์พระได้ใช้นิ้วมือปาดดินที่ด้านหลังพระ ในขณะที่กดพระลงแม่พิมพ์

 

หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ลีลาลาใหญ่  
หลวงพ่อพ่วง พิมพ์ลีลาใหญ่  

 

- พระเครื่องบางองค์ ผู้กดพิมพ์พระได้ใช้วัสดุซึ่งมีลักษณะแบนเรียบแต่มีน้ำหนัก (สัณนิษฐานว่าเป็นหินมีดโกนหรือหินอ่อน) กดดินที่ด้านหลังพระ ในขณะที่ดินดิบอยู่ในแม่พิมพ์ โดยพระที่ด้านหลังเรียบทุกองค์ จะไม่มีลักษณะที่บิดงอเลย

พระปลอม : มีการทำพระเครื่องเนื้อดินเผาของหลวงพ่อพ่วงปลอมออกมานานเกือบสิบปีแล้ว แต่พระปลอมยังทำได้ห่างไกลจากพระเครื่องของแท้ มีความแตกต่างกันทั้งรายละเอียดด้านเนื้อหาของดิน , ขนาด , พิมพ์ทรง และธรรมชาติโดยรวมของพระ อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่สนใจจะสะสมพระกรุเพดานโบสถ์ของหลวงพ่อพ่วงก็ไม่ควรประมาท ในอนาคตหากพระของหลวงพ่อพ่วงกรุนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น และมีมูลค่าในการแสวงหาสูงขึ้น เชื่อว่าพระปลอมฝีมือจัดจะพัฒนาฝีมือตามไปด้วย จนสามารถทำพระปลอมออกมาได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับพระเครื่องของแท้ในที่สุด. 

i163018021 98954 3

BetFair F.BetRoll UK Bookies
Ladbrokes Review L.BetRoll
WIll Hill BookiesW.BetRoll here...
United Kingdom BetRoll Bookmakers
free web counter